วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

ครูที่ดีที่สุดในช่วงเปิดทอม

  บทความในตอนนี้ผมเขียนขึ้นจากความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้เห็นมา เลยอยากนำมาเล่าสู่กันให้ลองอ่านดู ไม่ได้มีเจตนาในทางไม่ดีกับใคร เพียงแต่ต้องการแสดงความคิด มุมมองและความรู้สึกต่อสภาพสังคมที่เห็นเท่านั้น
 
ในช่วงนี้ก็เข้าสู่ช่วงเวลาของการเปิดภาคเรียนใหญ่ที่ยาวนาน ผมคิดว่านักเรียนส่วนใหญ่ก็คงได้อยู่พักอยู่ที่บ้าน และมีนักเรียนบ้างส่วนต้องเรียนภาคฤดูร้อน(Summer)ที่โรงเรียนต่ออีกระยะหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามด้วยสภาพสังคมที่มีการแข่งขันกันสูง ในทุกๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การงาน ไม่เว้นการเรียน ถึงแม้ว่าจะปิดเทอมไม่ต้องเรียนที่โรงเรียนตามปกติ แต่ผมเชื่อว่ามีเด็กอีกจำนวนมากที่ผู้ปกครอง พ่อแม่มีกำลังเงินพอก็จะหาที่เรียนพิเศษเพิ่มให้ลูกให้หลาน เพื่อประโยชน์หลายด้านเช่น เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการหาความรู้เพิ่มกับเด็กนักเรียน หลายครอบครัวผู้ปกครองต้องทำงานไม่มีเวลาดูแล เลยต้องหาที่เรียนหรือหาสถานทีที่มีกิจกรรมดีๆให้เด็กไปทำ ผู้ปกครองบ้างคนที่ผมรู้จักมีความตั้งใจจะส่งลูกไปเรียนต่อๆช่วงสั้นๆที่ต่างประเทศเพื่อให้ไปหาความรู้และหาประสบการณ์ใหม่ๆ

  ที่ผมกล่าวมาดูเหมือนว่าผมจะพูดถึงนักเรียนที่มีฐานะทางบ้านค่อนข้างดี ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ผมลืมพูดถึงผมที่ฐานะปานกลางหรือฐานะไม่ดีหรือเปล่า ก็ขอบอกเลยครับว่า "ไม่ได้ลืมนะครับ" ผมกำลังจะบอกว่า ผมมีแนวความคิดว่า ถึงแม้ว่าอีกหลายๆครอบครัวที่ฐานะไม่ได้นัก ไม่มีกำลังจะส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศหรือแม้จะเรียนพิเศษที่อื่น ผมคิดว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองอาจจะไม่ต้องส่งลูกไปเรียนข้างนอก(บ้าน)ก็ได้ เพราะช่วงปิดเทอม เด็กๆ(นักเรียน)น่าจะได้เรียนรู้อยู่กับครูที่ดีที่สุด ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ คุณผู้ปกครองเองนั้นแหละครับ เพราะว่าช่วงปิดเทอมน่าจะเป็นช่วงเวลาที่คนในครอบครัว น่าจะได้มีโอกาสได้อยู่ด้วยมากขึ้น น่าจะเป็นช่วงที่คุณพ่อ คุณแม่ คุณผู้ปกครอง ได้สังเกตและประเมินดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกหลาน ว่า 1 เทอมที่ผ่านมา เด็กๆมีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง ได้เรียนรู้อะไรจากโรงเรียน มีทัศนคติอย่างไร มีอะไรที่ผิดสังเกตไปบ้าง และถือเป็นโอกาสที่ดีจะสอนวิชาที่ไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียน ที่คุณครูสอนไม่ได้ ก็คือ วิชาชีวิตและประสบการณ์ของผู้ปกครอง แล้ววิชานี้มันเรียนอย่างไร สอนอย่างไรกัน การเรียนวิชานี้ก็ไม่ยากอะไรหลอกครับ ง่ายๆเลย คือการให้ลูกหลานได้มีเวลาอยู่กับเรา(พ่อแม่ ผู้ปกครอง)บ้าง ได้เห็นเราทำงานต่างๆ ให้เด็กได้รับทราบ ซึมซับและค่อยๆเรียนรู้ ว่าพ่อแม่ ทำงานอย่างไรและมีความยากลำบาก เหน็ดเหนื่อยแบบไหน เมื่อเกิดมีปัญหา พ่อแม่มีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร ผมจะขอยกตัวอย่างครอบครัวๆหนึ่งที่ดูน่ารักและอบอุ่นมาก ครอบครัวนี้คุณแม่ทำอาชีพขายน้ำกาแฟและเครื่องดื่มร้อน-น้ำต่างๆ อยู่ริมทาง โดยปกติหลังเลิกเรียนลูกๆ ก็จะมาช่วยแม่เฝ้าร้านและเก็บร้านทุกวัน วันหยุดก็จะมาอยู่ที่ร้านกับแม่ตลอด ถ้าไม่มีธุระที่อื่น โดยในช่วงที่ไม่มีลูกค้า เด็กๆก็จะนั่งคุยกับแม่บ้าง อ่านหนังสือเรียน หนังสือพิมพ์ ทำการบ้าน อยู่เป็นลูกมือช่วยแม่ หยิบนั่นทำนี้ มาตลอดตั้งแต่เล็กๆ จนตอนนี้เด็ฟๆได้วิชาการชงกาแฟและทำเครื่องดื่มต่างๆจากแม่ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งผมได้ซื้อทานอยู่บ่อยๆ และโดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมแบบนี้เด็กๆ ก็ไม่ได้หนีไปไหนเลย ไม่ได้นอนตื่นสายๆ เหมือนเด็กอีกๆหลายคน (อันนี้รวมถึงผมเองตอนเด็กๆด้วย...) เพราะยังไงก็ต้องตื่นมาช่วยแม่ เปิดร้านขายของ ช่วยดูแลร้านตามปกติ แถมยังหากิจการส่วนตัวที่ไปกันได้กับร้านกาแฟอีกอย่างด้วย คือ ขายขนมปังปิ้งทาเนย ขายเป็นรายได้เสริมช่วยแม่อีกทางหนึ่ง ครั้งหนึ่งผมได้ถามเจ้าของร้าน(คนที่เป็นแม่)ว่า "เด็กๆเขาไม่ไปติดเกมบ้างหรือไง ร้านเกมก็อยู่ใกล้ๆนี้เอง" เจ้าของร้านที่คุ้นเคยกันดี ก็ยิ้มแล้วบอกว่า "โชคดีมาก เด็กๆเขาไม่เอาเอง เขาไม่ชอบ ที่ติดก็คงมีแต่ชอบโทรศัพท์คุยกับเพื่อนบ้าง นิดหน่อย" ผมถามต่อไปว่า "แล้วเด็กๆมีดื้อบ้างหรือเปล่า" เจ้าของร้านก็ตอบมาว่า "ก็มีบางตามภาษาวัยรุ่น แต่ก็เอาอยู่ คุยกันรู้เรื่อง" ผมเองได้ฟังแล้วก็คิดชื่นชมอยู่ในใจอยู่เหมือนกัน แต่ผมคิดว่าเบื้องหลังความสำเร็จที่สำคัญคือ ความใกล้ชิดกลมเกลียวกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่ได้อยู่ด้วยกัน ช่วยเหลือกันได้เห็นและเรียนรู้ปัญหาของกันและกัน โดยมีผู้ปกครองเป็นเสาหลัก ค่อยบอกค่อยสอน ชี้ว่าอะไรถูก-อะไรผิด ก็เลยส่งผลให้ เด็กๆเป็นคนดี เป็นคนที่เข้าสังคมเก่ง รู้จักการช่วยเหลือพ่อแม่ รู้จักที่จะสร้างพื้นฐานของการช่วยเหลือตัวเอง รู้จักการแบ่งเวลา มีวินัยในการใช้ชีวิตและการเรียนก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก และอีกสิ่งที่ผมรู้สึกได้คือ เด็กๆดูเป็นคนมีความสุขและความอบอุ่น

  เมื่อคิดย้อนกับไปที่เด็กๆที่พ่อแม่ ส่งลูกไปเรียนพิเศษอย่างเดียว บางทีเมื่อลองคิดไปอีกมุมหนึ่งก็ดูเหมือนเป็นการผลักไส เด็กๆให้ออกห่างจากตัวพ่อแม่ ถ้าสำหรับเด็กๆที่มีภูมิคุ้มกันที่ดีและมีเป้าหมายในชีวิตอยู่แล้วก็ไม่น่ามีปัญหา แต่สำหรับเด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีนัก ก็อาจจะมีปัญหาได้ เช่นหนีเรียนพิเศษ ไปติดเพื่อนบ้าง ติดเกมบ้าง ติดการใช้มือถือที่มีเครือข่ายสังคมออนไลน์(Social Network)บ้าง ซึ่งอย่างหลังผมเห็นเด็กๆติดกันมากๆบางครั้งแทบจะไม่สนใจสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเหลือ ซึ่งอันตรายมาก และที่สำคัญเป็นการสะสมความรู้สึกห่างเหินและความไม่เข้าใจกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กๆสมัยนี้ โตเร็ว มีความคิดเป็นของตัวเองสูงและมีความกล้าแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองคิด (บางครั้งแบบไม่ยั้งคิด) ซึ่งอาจจะนำไปสู่แนวทางที่ผิดได้

  ที่ผมเขียนแบบนี้ ไม่ใช่เป็นการเชียร์หรือบังคับให้ทุกคนในครอบครัวต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลาในช่วงปิดเทอมเพราะไม่มีทางที่จะเป็นเช่น แต่ผมเพียงแค่ต้องการให้ผู้ปกครองได้คิดถึงหน้าที่และความสำคัญของพ่อแม่และผู้ปกครองเองในบทบาทของความเป็นครูโดยธรรมชาติ โดยแบ่งเวลาและความรู้สึกมาสนใจในความเป็นไปของลูกให้มากขึ้นเท่านั้น เพื่อช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เด็กๆ ในสภาพที่สังคมสิ่งที่มีสิ่งเร้าที่ดีมากและที่ไม่ดีก็มาก(กว่า)
******

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น