สำหรับช่วงนี้ก็ใกล้ วันอาสาฬหบูชา ครูจะขอนำเรื่องเกี่ยวกับวันนี้มาให้อ่านกันแบบย่อๆ
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของชาวพุทธเถรวาท คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน
วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์
การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญสำหรับในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในประเทศอื่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา
สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้
1.เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
2.เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร์ ประกาศหลักธรรมที่เรียกว่ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ซึ่งเป็นการ "ปฐมเทศนา" เป็นการเผยแผ่พระธรรมให้เป็นไปครั้งแรกในโลก
3.เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น
4.เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
เนื้อหาในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มี 3 ตอน ดังนี้
ตอนที่1 สิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่างส่วนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ กามสุขัลลิกานุโยค(หมายถึง การปฏิบัติตนย่อหย่อนสบายกายเกินไป) และ อัตตกิลมถานุโยค (หมาย ถึง การปฏิบัติตนจนทรมานกายเกินไป)
ตอนที่ 2 มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)
หลักธรรมในพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร มีจุดเด่นคือเน้นทางสายกลาง ให้มนุษย์มองโลกตามความเป็นจริง มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง คือ การปฏิบัติที่ไม่สุดตึงด้านใดด้านหนึ่ง
ตอนที่ 3 อริยสัจสี่
สุดท้ายทรงแสดงสิ่งที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้ คือทรงแสดงอริยสัจ 4 ประการ และ "กิจ" ที่ควรทำในอริยสัจ 4 ประการ เพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ โดยแก้ที่สาเหตุของทุกข์ กล่าวคือ ทุกข์ ควรรู้ สมุทัย ควรละ นิโรธ ควรทำให้แจ้ง มรรค ลงมือปฏิบัติ
1. ทุกข์ ได้แก่ ความเกิด, ความแก่, ความเจ็บไข้, ความตาย, การเจอสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก, ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก, ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ หรือโดยย่อคือ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์นั่นเอง
2. สมุทัย (สาเหตุแห่งความทุกข์) คือ ตัณหา ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
3. นิโรธ (สาเหตุแห่งการดับของทุกข์) คือไม่ยึดถือว่ามีความทุกข์หรือเราเป็นทุกข์
4. มรรค คือวิธีการปฏิบัติตามทางสายกลางเพื่อการดับทุกข์โดยดำเนินตามหลักมรรคมีองค์ 8 อันได้แก่
1) ปัญญาอันเห็นชอบ
2) ความดำริชอบ
3) เจรจาชอบ
4) การงานชอบ
5) เลี้ยงชีวิตชอบ
6) พยายามชอบ
7) ระลึกชอบ
8) ตั้งจิตชอบ
พวกเราชาวพุทธก็ควรนำหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มาพิจารณาและน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อจะได้บรรลุเป็นอริยบุคคลกันบ้าง
* * * * *
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น